วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจ

ความหมายของธุรกิจ
                ธุรกิจ(Business) หมายถึง  การกระทำหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสถาบันการผลิต  การจำหน่าย  และการให้บริการ  โดยกลุ่มบุคคลมีการกระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายเดียวกัน  คือ  กำไร  หรือรายได้  เป็นการตอบแทนการลงทุนด้วยทรัพย์สินและแรงงานในกิจกรรมนั้น  การกระทำดังกล่าวอาจจะเสี่ยงต่อการขาดทุนด้วย
              ความหมายของธุรกิจอาจกล่าวได้กว้าง ๆ  ว่า  ธุรกิจเป็นกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ที่มีเป้าหมายทางด้านกำไรในการจัดหาสินค้าและบริการ  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  หรือ
                 ธุรกิจ หมายถึง  กิจกรรมที่เกี่ยวกับธนาคาร  กาขนส่ง  การก่อสร้าง  การทำเหมืองแร่  และการให้บริการ หรือ
                  ธุรกิจ หมายถึง  ขบวนการทั้งปวงของการนำทรัพยากรธรรมชาติมาเปลี่ยนสภาพด้วยขบวนการต่าง  ๆ จนเป็นสินค้าและนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค
ในสังคมล้อมรอบตัวเราสามารถมองเห็นการประกอบธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตลาดเวลาในฐานะผู้ผลิต  และผู้บริโภค  ธุรกิจการผลิต  ได้แก่  โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ผลิตสินค้า  ผู้ผลิตสินค้าขนาดย่อม  ธุรกิจซื้อขายสินค้า  ได้แก่  ร้านค้าประเภทต่าง ๆ คนกลางที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย กิจการธนาคาร  การประกันภัย  การขนส่ง  การเก็บรักษาสินค้า  การให้บริการของภาครัฐและเอกชน  เป็นต้น
สรุป  ธุรกิจ  หมายถึง  กิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  การจำหน่าย  การให้บริการต่างๆ ในอันที่มาซึ่งสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

วัตถุประสงค์ของธุรกิจ
          การประกอบธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการ คือ กำไรแต่นอกเหนือจากกำไรแล้ว ยังมีสิ่งอื่นอีกที่ธุรกิจจะต้องคำนึงถึง เช่น ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อลูกจ้างพนักงาน ฯลฯ
วัตถุประสงค์ของธุรกิจ (Business Goals) ที่สำคัญมีดังนี้
          1.   เพื่อความมั่นคงของกิจการ เมื่อธุรกิจเริ่มดำเนินการขึ้น เจ้าของธุรกิจก็มีความประสงค์จะผลิตสินค้า หรือบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีที่สิ้นสุด
          2.   เพื่อความเจริญเติบโตของธุรกิจ นอกจากความมั่นคงของกิจการแล้ว ธุรกิจยังต้องการที่จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยการขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น   เพิ่มสาขา   จ้างพนักงานเพิ่มขึ้น  เพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งทางการเงินและฐานะทางสังคม
          3.   เพื่อผลประโยชน์หรือกำไร สิ่งที่จูงใจให้เจ้าของธุรกิจดำเนินธุรกิจต่อไป คือกำไร ถ้าธุรกิจไม่มีกำไรกิจการนั้นก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ การที่ธุรกิจจะมีกำไรได้นั้น   ต้องจำหน่ายสินค้าหรือได้รับค่าบริการในราคาสูงกว่าค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนที่ได้เสียไปในการผลิตสินค้าหรือบริการนั้น
          4.   เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม การดำเนินธุรกิจจะต้องคำนึงถึงจารีตประเพณีศีลธรรมอันดีงามของสังคมด้วย ธุรกิจจะต้องไม่ดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อประเพณี ศีลธรรมอันดีงามของสังคม ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงผู้บริโภค คำนึงถึงสภาพแวดล้อมต้องช่วยพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมให้ดีขึ้น เช่น การไม่ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง การไม่ผลิตสินค้าที่มีสารพิษตกค้าง การไม่ตัดไม้ทำลายป่า การไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ฯลฯ
          จากวัตถุประสงค์ของธุรกิจดังกล่าว จัดว่าเป็นวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของธุรกิจเอกชน แต่ยังมีการประกอบธุรกิจบางประเภทที่ไม่ได้หวังผลกำไร (Social Prestige)  ได้แก่  กิจการประเภทสาธารณูปโภค (Public Utilities) ต่าง ๆ เช่น การดำเนินกิจการของการไฟฟ้า การประปา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น กิจการดังกล่าวดำเนินการโดยรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสะดวกสบาย

ประโยชน์และความสำคัญของธุรกิจ
การดำเนินการทางธุรกิจมีประโยชน์ต่อบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ดังนี้
1.  ผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการสินค้าและบริการที่มีความแตกต่างกัน ทั้งความต้องการในสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค  ที่อยู่อาศัย รวมถึงความต้องการในสินค้าและบริการที่อำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เช่น รถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์เป็นต้น ซึ่งสินค้าและบริการเหล่านี้องค์กรธุรกิจ  และบุคคลที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในการผลิตหรือจัดบริการให้ตรงกับความต้องการของผุ้บริโภค
2.  การกระจายสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค  เมื่อองค์กรธุรกิจผลิตสินค้าและบริการแล้วย่อมต้องการที่จะขายหรือจำหน่ายสินค้าและบริการเหล่านี้ไปสู่ผู้บริโภคที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างทั่วถึง  เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้สินค้าและบริการเหล่านี้ตามความต้องการของตนเอง
3.  ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานและสร้างรายได้ในท้องถิ่น  กิจกรรมทางธุรกิจทั้งกระบวนการผลิต  การขนส่ง การจัดจำหน่าย  และการบริการ  ล้วนต้องใช้แรงงานในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เลห่านี้ จึงส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงาน ก่อให้เกิดรายได้ ช่วยลดปัญหาการว่างงานและปัญหาทางสังคม
4.  เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ การดำเนินการทางธุรกิจเป็นกิจกรรมที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  ผู้ผลิตจึงต้องปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าและบริการอยู่ตลอดเวลา โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น การใช้เครื่องจักรที่สามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากขึ้นในเวลาเท่าเดิม
5.  สร้างรายได้ให้กับรัฐ  การประกอบธุรกิจหากมีการขยายตัวทางธุรกิจมากเท่าไรก็จะมีการจ้างงานทำให้ประชาชนเกิดรายได้ เพื่อที่จะนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการได้มากขึ้น  ส่วนรัฐก็มีรายได้จากการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ และภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสถานประกอบ
6.  ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  การประกอบธุรกิจใดสามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในต่างประเทศถ้ามีการส่งออกสินค้าปริมาณมากก็จะสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน  ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
ประเภทของธุรกิจ
การแบ่งประเภทของธุรกิจตามลักษณะของกิจกรรมที่ธุรกิจกระทำ แบ่งออกได้ ดังนี้
1.             ธุรกิจการเกษตร (Agriculture) การประกอบธุรกิจการเกษตร ได้แก่ การทำนา การทำไร่ การทำสวน การทำป่าไม้ การทำปศุสัตว์ ฯลฯ
2.             ธุรกิจอุตสาหกรรม (Manufacturing) การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจผลิตสินค้าเพื่ออุปโภค แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
2.1       อุตสาหกรรมในครัวเรือน จัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้แรงงานเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ลงทุนไม่สูงนักส่วนใหญ่เป็นการใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนาทำไร่ ขณะที่รอเก็บเกี่ยวพืชผลก็ใช้เวลาว่าง มาทำอุตสาหกรรม ในครัวเรือน ได้แก่ อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมทำเครื่องเขิน อุตสาหกรรมทำเครื่องจักสาน ฯลฯ
2.2      อุตสาหกรรมโรงงาน เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตสินค้ามีโรงงาน มีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก มีการจ้างแรงงานจากบุคคลภายนอก ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตพลาสติก ฯลฯ
2.3      ธุรกิจเหมืองแร่ (Mineral) การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ การขุดเจาะถ่านหิน การขุดเจาะนำทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ มาใช้
2.4      ธุรกิจการพาณิชย์ (Commercial) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าที่ผลิตจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้อุปโภคบริโภค สินค้า ตามความต้องการ ได้แก่ ธุรกิจพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ
2.5      ธุรกิจการก่อสร้าง (Construction) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ในการนำวัสดุต่าง ๆ ได้แก่ อิฐ หิน ปูน ทราย มาใช้ในการก่อสร้าง เช่น การสร้างถนน สร้างอาคาร สร้างเขื่อน ก่อสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น
2.6      ธุรกิจการเงิน (Finance) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ธุรกิจอื่นทำงานได้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากในการทำธุรกิจจะต้องเริ่มจากการลงทุน ซึ่งต้อง ใช้เงิน ในการลงทุน เช่น นำมาซื้อที่ดิน ปลูกสร้างอาคาร จ้างคนงาน ซื้อวัตถุดิบ ซื้อเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งถือว่าธุรกิจการเงินเป็น แหล่งที่ธุรกิจอื่น สามารถติดต่อใน การจัดหาทุนได้ นอกจากนั้นในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศหรือส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ธุรกิจการเงิน จะทำหน้าที่เป็น ตัวกลาง ในการ
ติดต่อซื้อขาย ชำระเงินระหว่างกัน ธุรกิจที่จัดเป็นธุรกิจการเงิน ได้แก่ ธุรกิจประเภทธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทการเงิน
2.7      ธุรกิจให้บริการ (Service) เป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจการสื่อสาร ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการโรงแรม ฯลฯ
2.8      ธุรกิจอื่น ๆ เป็นธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจ อาชีพอิสระต่าง ๆ เช่น วิศวกร แพทย์ สถาปัตย์ ช่างฝีมือ ประติมากรรม ฯลฯ

ปัจจัยเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
ปัจจัยเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ  ได้แก่  ทุน  ที่ดิน  แรงงาน  และผู้ประกอบการ  ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
1.             ทุน  หมายถึง  ทรัพย์สินต่างๆที่ใช้ในการลงทุน  การผลิตและการขาย  ไม่ว่าจะเป็นเงินสด  เครดิต  หรือทรัพย์สินอื่นๆ  ทุนในทางธุรกิจแบ่งออกเป็น ลักษณะ  ได้แก่
1.1      ทุนคงที่ (Fixed  Capital)  หมายถึง  เงินทุนที่ธุรกิจนำไปใช้เพื่อการซื้อทรัพย์สินถาวรสำหรับการผลิตสินค้าหรือบริการ  เช่น  เครื่องจักร  อุปกรณ์  ที่ดิน  อาคาร  เป็นต้น
1.2      ทุนหมุนเวียน (Current  Capital)  หมายถึง  เงินทุนที่ธุรกิจใช้ซื้อสินค้ามาขาย  เมื่อขายสินค้าได้นำเงินไปซื้อมาไว้เพื่อขายอีก  เช่นนี้เรื่อยๆไป  นอกจากนี้ยังเป็นเงินที่ใช้สำหรับการดำเนินงานด้านอื่นๆ  เช่น  เงินเดือน  ค่าสาธารณูปโภค  ค่าพาหนะ  ชำระหนี้ค่าสินค้า  ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด  เป็นต้น
2.             ที่ดิน  หมายถึง  สถานที่ประกอบการ  เช่น  ที่ตั้งโรงงาน  ร้านค้า  บริษัท  ฯลฯ  ทั้งนี้ได้รวมเอาทรัพยากรที่มีอยู่บนดินและใต้ดินด้วย  เช่น  แร่ธาตุ  น้ำ  เป็นต้น
3.             แรงงาน  หมายถึง  กำลังคนหรือผู้ทำงานในสถานประกอบการใดๆ  คนหรือมักเรียกกันว่าทรัพยากรมนุษย์  เป็นปัจจัยทางการบริหารที่มีความสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดำเนินงาน  ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จตามที่ธุรกิจได้ตั้งเป้าหมายไว้
4.             ผู้ประกอบการ  หมายถึง  บุคคลที่มีความรู้  ความสามารถ  ประสบการณ์ในการบริหารงาน  เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานธุรกิจให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

สภาพแวดล้อมของธุรกิจ  (Business  Environment)
                สังคมในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มแคบลงทุกขณะเป็นตามกาลเวลาทั้งนี้เกิดจากการพัฒนาการทางเทคโนโลยี ที่ทันสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น  เพราะจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  และลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง  โดยที่สินค้าและบริการมีคุณภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีความราบรื่นหรือมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจว่าจะเอื้ออำนวยให้หรือไม่

แสดงวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์  The Product  Life  Cycle  : PLC




ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ
                 การประกอบธุรกิจจะปฏิเสธสภาพที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการไม่ได้  จะต้องมีการศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ  เหล่านั้นให้เข้าใจและหาวิธีการที่จะปรับองค์การเพื่อรองรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะแสดงขึ้นกับองค์การต่อไป  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต  ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ มีดังนี้
1.              ปัจจัยทางด้านกฎหมาย  ( Law Factor)  สังคมที่อยู่กันอย่างสงบสุขได้นั้น  จะต้องมีกฎหมายเป็นตัวกำกับดูแลความสงบเรียบร้อย  มีทั้งสิทธิและหน้าที่ มีทั้งข้อห้ามและข้อบังคับ  ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจึงต้องยอมรับกฎหมาย  เช่นเดียวกับ  องค์การหรือหน่วยงานอื่นๆ  ในสังคม  กฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่สำคัญประกอบด้วย
-   กฎหมายแรงงาน   สาระสำคัญของกฎหมายแรงงาน จะเน้นในด้านความสงบสุขและความเป็นธรรมระหว่างลูกจ้างและนายจ้างเป็นหลัก  เพื่อทำให้การประกอบธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น  โดยจะมีข้อกำหนดในเรื่อง  ค่าแรงงานขั้นต่ำ  ชั่วโมงในการทำงานแต่ละวัน
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค   สิทธิของผู้บริโภคที่พึ่งได้รับจากผู้ผลิตสินค้าและบริการในขั้นพื้นฐาน  คือ  การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการตามความเป็นจริง  หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาสิทธิของผู้บริโภค คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) หรือผู้บริโภคมีความสงสัยในผลิตภัณฑ์ใดๆ สามารถขอคำแนะนำปรึกษาได้ที่องค์การอาหารและยา  สายด่วน 1556 ซึ่งเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง  กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจในหลายๆ ด้าน เช่น  คุณภาพสินค้า  การโฆษณา การประชาสัมพันธ์  การตั้งเวลา  การหีบห่อ  การใช้สัญลักษณ์หรือตรายี่ห้อ ความสะอาด เป็นต้น
-   กฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ  เป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้น  เพื่อความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดในการผลิตสินค้าและบริการ  ป้องกันการรวมตัวกันของผู้ผลิตในการผูกขาดด้านการกำหนดราคาสินค้าและบริการ Goods and Service  และปริมาณการผลิต
การปฏิบัติของธุรกิจต่อปัจจัยทางด้านกฎหมาย
ธุรกิจเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม  การจะอยู่รวมกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นๆ ในสังคม  จะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมนั้น ๆ ด้วย  ซึ่งจะอยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปตามข้อกฎหมาย(Law  and  Differentiation) ดังนั้นธุรกิจจึงควรปฏิบัติต่อปัจจัยทางด้านกฎหมายดังนี้
                                1.  ศึกษาค้นคว้ากฎหมายเกี่ยวข้อต่อการประกอบธุรกิจอย่างกว้างขวาง
                                2.  ทำความเข้าใจในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
                                3.  ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2.  ปัจจัยทางด้านการเมือง (Political Factor)   การเมืองเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม  โดยเฉพาะธุรกิจการค้าทางด้านต่างประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางด้านทางเมืองอย่างมาก เช่น  การศึกษาทางด้านต่างประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางด้านการเมืองอย่างมาก  เช่น  การกีดกันทางการค้า  ระบบการปกครองประเทศ ทัศนคติของผู้นำประเทศ  การเกิดภาวะสงคราม  เป็นต้น
ปัจจัยทางด้านการเมืองที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ประกอบด้วย
1.             รูปแบบของการเมืองการปกครอง
2.             เสถียรภาพทางการเมือง
3.             วิสัยทัศน์ของนักการเมือง
การปฏิบัติของนักธุรกิจต่อปัจจัยทางด้านการเมือง
1.             ศึกษาระบบการเมืองการปกครองของประเทศที่จะเข้าไปลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
2.             การรวบรวมข้อมูลทางการเมืองและวิเคราะห์การเมืองและวิเคราะห์เสถียรภาพทางการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล  เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน (Risk  Investment)
3.             ศึกษาแนวนโยบายและวิสัยทัศน์ ของผู้นำรัฐบาลในรูปแบบของตัวบุคคลและหมู่คณะว่าเป็นไปในทิศทางใด  เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่จะลงทุนในด้านใดบ้าง
3.  ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Factorระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากหน่วยของธุรกิจหลาย ๆ หน่วยรวมกันก่อให้เกิดการเปลี่ยนโอนสินค้าและบริการ  มีการไหลเวียนของกระแสเงิน Flow Moneyจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งตามความต้องการและอำนาจซื้อของแต่ละบุคคลแต่ละท้องถิ่น  ดังนั้นธุรกิจจึงเป็นหน่วยย่อยๆ หน่วยหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจเจริญเติบโต Growth Economic หรือ สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถดถอยก็ตาม  หน้าที่ประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับเจ้าของกิจการคือ การประเมินสถานการณ์และการคาดคะเนสภาวะเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว(Shot-tream and Long  tream) ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อธุรกิจ ประกอบด้วย
-   สภาวะด้านเศรษฐกิจ  ปัจจัยนี้ถูกกำหนดโดย อุปสงค์  ( Demand)   และ อุปทาน (Supply ในตลาดในบางขณะความต้องการบริโภคสินค้าและบริการมีสูง  ในบางขณะความต้องการบริโภคสินค้าบริการมีต่ำ
 สภาวะอัตราดอกเบี้ย  การประกอบธุรกิจต้องมีแหล่งที่มาของเงินทุนหลายแหล่งทั้งจากผู้ถือหุ้นจากนักลงทุน  และจากผู้กู้ยืม  เงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจจะมีต้นทุนของเงินแอบแฝงอยู่ในรูปของอัตราดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสียโอกาส
สภาวะของผู้บริโภค พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลง ไปตามสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจกล่าวคือ เมื่อใดที่เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตจะทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีรายได้ดีขึ้นและก็ต้องการที่จะบริโภคสินค้าจำนวนมากขึ้นตามด้วยเช่นกัน
การปฏิบัติของนักธุรกิจต่อปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ
                ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น สาเหตุประการหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ  ว่าจะเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการประกอบธุรกิจหรือไม่  แล้วธุรกิจเองจะปฏิบัติตนได้เหมาะสมเพียงใด การศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติของนักธุรกิจคือ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจประกอบด้วย
                1. ศึกษาแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต
                2. การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค  สินค้าและแต่ละประเภทจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันออกไป  ดังนั้นการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคจะต้องให้สอดคล้องกับสินค้าและบริการที่ธุรกิจจะดำเนินการด้วยอาจพิจารณาได้จากสิ่งต่อไปนี้
                                2.1  อำนาจในการซื้อของผู้บริโภค
                                2.2  รายได้ของผู้บริโภค
                                2.3  ราคาสินค้า
                                2.4  อัตราดอกเบี้ยในตลาด
                3.  กำหนดนโยบายของธุรกิจ  (Business  Policy)  ให้สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจ  นโยบายธุรกิจอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม  เช่น การลดกำลังการผลิตในสภาวะที่อำนาจซื้อผู้บริโภคลดลง การลดเป้าหมายยอดขายสินค้าลดตามสภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ถดถอยเป็นต้น
            4. ปัจจัยทางด้านคู่แข่งขัน  (Competition Factorระบบเศรษฐกิจแบบเสรีหรือทุนนิยมจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันในการประกอบธุรกิจไม่ได้เพราะพื้นฐานหลักของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม Capitalism Economy System   มีแนวคิดที่ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกประกอบธุรกิจใดก็ได้ไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้น ธุรกิจใดที่มีผลตอบแทนสูง ย่อมเป็นที่หมายปองของบุคคลทั่วไปที่จะประกอบธุรกิจนั้น  ดังนั้นปัจจัยทางด้านการแข่งขันที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกอบด้วย
                                1.  การควบคุมการผลิตและต้นทุนการผลิต
                                                -  เครื่องจักรมีประสิทธิภาพสูง
                                                -  คุณภาพของวัตถุดิบ
                                                -  คุณภาพของบุคลากร
                                2. การส่งเสริมการตลาด   
                                ธุรกิจจะมีรายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการ  การที่จะทำให้ธุรกิจมีรายได้มากขึ้นจะต้องทำให้สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นขายให้ได้มากขึ้น  ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรจะสามารถขายให้ได้มากขึ้น ตามหลักการตลาดที่กล่าวว่า  การส่งเสริมการตลาดที่ถูกต้องและเหมาะสมจะทำให้ธุรกิจสามารถเพิ่มยอดขายได้ในที่สุด โดยพิจารณาจากส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mixed)  หรือที่เรียกว่า  4P’s ประกอบด้วย
                                -  ผลิตภัณฑ์ (Product)
                                -  การตั้งราคา  (Price)
                                -  ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place)
                                -  การส่งเสริมการขาย ( Promotion)
การปฏิบัติของนักธุรกิจต่อปัจจัยทางด้านผู้บริโภค
            5. การปฏิบัติของนักธุรกิจต่อปัจจัยทางด้านผู้บริโภค  ธุรกิจนอกจากจะมีหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแล้วยังจะต้องมีการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่ามีความต้องการด้านใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตสินค้าและบริการต่อไป
                        1. การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค มีประเด็นที่ควรวิเคราะห์ดังนี้
                        1.1 สาเหตุที่ผู้บริโภคซื้อ Why do consumers buy?
                        1.2  ผู้บริโภคต้องการซื้ออะไร What do consumers buy?
                        1.3  ผู้บริโภคซื้อที่ไหน Where do consumers buy?
                        1.4  ผู้บริโภคซื้อเมื่อใด When do consumers buy?
            6. ปัจจัยทางด้านสังคม  (Social  Factor)  การที่ธุรกิจจะดำรงอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและเจริญก้าวหน้า  จะต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม  ดังนั้นธุรกิจจะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมลภาวะ  การว่างงาน  การสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม  เป็นต้น  ปัญหาของธุรกิจที่พบเห็นเสมอ ๆ ดังนี้
                                -   ความยากจนและการว่างงาน
                                -   ปัญหาทางด้านผู้บริโภค
                                -   ปัญหามลภาวะ
                                 -   ผลกระทบต่อเงื่อนไขสภาพแวดล้อม (Effects of  environmental legislation)
                                -  น้ำเน่าเสีย  (Water  Pollution)
                               -  มลภาวะทางอากาศ ( Air  pollution)

บทบาทของรัฐบาลที่มีต่อธุรกิจ
การที่รัฐเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเนื่องจากเหตุผล 3  ประการดังนี้
                1.  การรักษาไว้ซึ่งการแข่งขัน
                2.  การป้องกันประโยชน์หรือสวัสดิการของสาธารณชน
                3.  การควบคุมการผูกขาดตามธรรมชาติ ในระบบทุนนิยมจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจ  หากไม่มีการแข่งขันเลยจะทำให้เกิดการผูกขาด  สินค้าจะไม่มีคุณภาพหรือราคาแพง
บทบาทของรัฐในการช่วยเหลือธุรกิจ
                1. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล
                2. การส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและการส่งออก
                3. การเงินการธนาคาร
                4. การบริหารให้เป็นไปตามกฎหมาย

อำนาจของรัฐในการเก็บภาษีจากธุรกิจ
                                การจัดเก็บภาษีมีวัตถุประสงค์หลายประการ วัตถุประสงค์หลักคือการหารายได้มาใช้จ่ายในกิจการของรัฐและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีมีดังนี้:
                                1. เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในกิจการของรัฐ
                                2. เพื่อควบคุมหรือส่งเสริมพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ
                                3. เพื่อการกระจายรายได้และทรัพย์สินให้เป็นธรรม
                                4. เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ


แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจ
                การศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ  จำเป็นต้องเข้าใจถึงระบบเศรษฐกิจ  ซึ่งมีความหมายเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจ  ในสภาวะที่เศรษฐกิจจะส่งผลต่อการประกอบการของธุรกิจที่จะสามารถทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้  ในทางตรงกันข้าม  หากเศรษฐกิจตกต่ำก็จะส่งผลต่อการประกอบการธุรกิจ  ซึ่งหากไม่สามารถปรับตัวได้  อาจจะทำให้ธุรกิจชะลอตัวหรืออาจจะไม่สามารถดำเนินดารต่อไปได้
                ก่อนที่จะกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ (Economics)  ซึ่งเป็นเรื่องของวิธีการจัดสรรทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ  เพื่อตอบสอนงความต้องการของผู้บริโภค  ตามแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์  ทรัพยากรดังกล่าวจะหมายถึงทรัพยากรที่เกิดจากธรรมชาติ  อาทิ  ที่ดิน  ป่าไม้  แร่ธาตุ  นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรมนุษย์  ที่มีความรู้ความสามารถความชำนาญตลอดจนประสบการณ์ต่างๆ  ที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าหรือบริการ  ตลอดจนทรัพยากรด้านการเงิน  หรือเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการลงทุนประกอบกิจการ  ทรัพยากรที่กล่าวมาข้างต้นโดยรวมเรียกว่า ปัจจัยการผลิต
รูปแบบของระบบเศรษฐกิจ
                ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลกจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจของผู้บริหารในแต่ละประเทศ ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ๆดังนี้

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม (Laissez-Faire or Capitalism)
                ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนใน การเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เศรษฐทรัพย์ต่างๆที่ตนหามาได้ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆ แต่ทว่าเสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินการใดๆจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมีหน้าที่เพียงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการป้องกันประเทศ

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิย
                เอกชนมีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามที่ตนถนัดกำไรและการมีระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นแรงจูงใจทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ เอกชนจะทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากผลิตได้มากน้อยเท่าไรก็จะได้รับผล ตอบแทนหรือรายได้ไปเท่านั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจระบบนี้จะมีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้เกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
                ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเนื่องจากความสามารถที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลโดยพื้นฐาน ทำให้ความสามารถในการหารายได้ไม่เท่ากัน ผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจในหลายๆกรณี ราคาหรือกลไกตลาดยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สินค้าและบริการที่มีลักษณะของการผูกขาดโดยธรรมชาติหรือสินค้าและบริการสาธารณะ ซึ่งได้แก่ บริการด้านสาธารณูปโภค (น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ) โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน เขื่อน สะพาน ฯลฯ) จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการดังกล่าวส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินลงทุนมาก เทคโนโลยีที่ทันสมัย เสี่ยงกับภาวะการขาดทุน เนื่องจากมีระยะการคืนทุนนาน ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ทำให้เอกชนไม่ค่อยกล้าลงทุนที่จะผลิต ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการแทน อันเนื่องจากสินค้าและบริการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องการ จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวราคาไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรได้การใช้ระบบการแข่งขันหรือกลไกราคาอาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่าง สิ้นเปลือง เช่น ในบางช่วงที่มีการแข่งขันกันสร้างศูนย์การค้าเพราะคิดว่าเป็นกิจการที่ให้ผลตอบแทนหรือกำไรดี ศูนย์การค้าเหล่านี้เมื่อสร้างขึ้นมามากเกินไปก็อาจไม่มีผู้ซื้อมากพอ ทำให้ประสบกับการขาดทุน กิจการต้องล้มเลิก เสียทุนที่ใช้ไปในกิจการนั้น เป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปอย่างเปล่าประโยชน์และไม่คุ้มค่า เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
                ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์รัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเลือกใช้ ปัจจัยการผลิตได้ รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการและทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรต่างๆ หน่วยธุรกิจและครัวเรือน จะผลิตและบริโภคตามคำสั่งของรัฐ กลไกราคาไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจกระทำโดยรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจว่า ทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ควรจะนำมาผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร การตัดสินใจ มักจะทำอยู่ในรูปของการวางแผนแบบบังคับจากส่วนกลาง (central planning) โดยคำนึงถึงสวัสดิการ ของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยสรุประบบเศรษฐกิจแบบนี้จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจทุกอย่าง ไว้ที่ส่วนกลาง รัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนแต่เพียงผู้เดียว เอกชนมีหน้าที่เพียงแต่ทำตามคำสั่งของทางการ เท่านั้น
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
                จุดเด่นของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ก็คือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ของบุคคลในสังคม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนจะทำการผลิตและ บริโภคตามคำสั่งของรัฐ ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำส่งเข้าส่วนกลาง และรัฐจะเป็นผู้จัดสรรหรือแบ่งปัน สินค้าและบริการดังกล่าวให้ประชาชนแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
ประชาชนไม่มีเสรีภาพที่จะผลิตหรือบริโภคอะไรได้ตามใจ ถูกบังคับหรือสั่งการจากรัฐสินค้ามีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ผลิตขาดแรงจูงใจ เพราะไม่ว่าจะผลิตสินค้าได้ มากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกจะต้องบริโภคตามการปันส่วนที่รัฐจัดให้การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถที่จะมีข่าวสารสมบูรณ์ในทุกๆเรื่อง เช่น รัฐไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทำให้ผลิต สินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการ ส่งผลให้มีสินค้าเหลือ (ไม่เป็นที่ต้องการ) จะเห็นได้ว่าลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรของประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
                ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจ แบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมรัฐจะเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน ไว้เกือบทั้งหมด และเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน กิจการหลักที่มี ความสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ เช่น ธุรกิจธนาคาร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ น้ำมัน กิจการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ฯลฯ รัฐจะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม รัฐยังให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้างพอสมควร เอกชนมีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน เช่น สามารถทำธุรกิจค้าขายขนาดย่อมระหว่างท้องถิ่นใกล้เคียง สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน เพื่อการยังชีพ โดยสรุป ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ แต่ทว่ากลไกราคาพอจะมีบทบาทอยู่บ้างในระบบเศรษฐกิจนี้
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
                ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีส่วนช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทาง ฐานะและรายได้ของบุคคลเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนมีเสรีภาพและมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินบ้างพอสมควร
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
                ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เนื่องจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานอยู่ในการควบคุมของ รัฐบาลทำให้ขาดความคล่องตัว การผลิตถูกจำกัดเพราะต้องผลิตตามที่รัฐกำหนด โอกาสที่จะขยายการผลิตหรือพัฒนาคุณภาพการผลิตเป็นไปค่อนข้างลำบาก ทำให้การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ในลักษณะเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
                ระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม กล่าวคือ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตมีทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน ในส่วนที่เป็นแบบทุนนิยม คือ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่าง มีเสรีภาพในการเลือกผลิตหรือบริโภค ใช้ระบบของการแข่งขัน กลไกราคาเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ส่วนที่เป็นแบบสังคมนิยม คือ รัฐบาลเข้ามาควบคุมหรือเข้ามาดำเนินกิจการที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น กิจการสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนมากเพราะหาเอกชนลงทุนได้ยาก เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้อง เสี่ยงกับการขาดทุนหรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่กิจการเหล่านี้จำเป็นต้องมีเพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง และคมนาคม เหตุที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการในกิจการดังกล่าวก็เพื่อขจัดปัญหาในเรื่องการผูกขาดหรือเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นถ้าปล่อยให้เอกชนทำการแข่งขัน โดยสรุปแล้วระบบเศรษฐกิจแบบผสมจึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทั้งระบบกลไกราคา หรือระบบตลาดควบคู่ไปกับระบบกลไกรัฐในการจัดสรรทรัพยากร
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
                เป็นระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความคล่องตัว กล่าวคือ มีการใช้กลไกรัฐร่วมกับกลไกราคาในการจัดสรรทรัพยากรของระบบ กิจการใดที่กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐก็จะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (ใช้ระบบของการแข่งขัน) แต่ถ้ากิจการใดที่กลไกราคาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐก็จะเข้ามาดำเนินการแทน จะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสาน กล่าวคือ รวมข้อดีของทั้งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
                การมีกำไรและระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ และรายได้เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมการที่รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยใช้กลไกรัฐอาจก่อให้เกิดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้เกิดการบิดเบือน การใช้ทรัพยากรของระบบ เศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรปัญหาเอกชนไม่กล้าลงทุนอย่างเต็มที่เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลซึ่งมีความผันผวนและแปรเปลี่ยนได้ง่าย อาจทำให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง



อ้างอิง
http://krusuranart.com/index.php/2011-11-24-13-35-31/2012-01-19-09-35-55 http://www.tepleela.ac.th/business-leaning/a4-objective.html  https://www.l3nr.org/posts/368561     
http://www.novabizz.com/Business/ความหมายของธุรกิจ.htm      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น